Thai Translation Style Guides Discussion (WPTD4)

ในวัน WPTranslationDay 4 ทีม Polyglots ไทยได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้นเกี่ยวกับการแปล WordPress เป็นภาษาไทย โดยมีความคิดเห็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำถามที่ว่า

“เราแปลเป็นรุ่นภาษาไทยให้ใครใช้?”

@mennstudio แสดงความเห็นว่า จากประสบการณ์ที่เคยได้นำ WordPress ไปสอนให้กับเด็กหรือผู้ที่สนใจที่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษยังไม่มาก การมี WordPress รุ่นภาษาไทย จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานกลุ่มนี้

@9rt9rt แสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำ WordPress รุ่นภาษาไทยไปใช้สำหรับหน่วยงานราชการต่าง ๆ การฝึกอบรบสำหรับบุคลากรตามหน่วยงานที่มีความคุ้นเคยกับการใช้ภาษาไทยมากกว่าภาษาอังกฤษ

@inhumba และท่านอื่น ๆ นำเสนอในมุมมองของนักพัฒนาว่า ส่วนมากจะเป็นการติดตั้งรุ่นภาษาไทยให้สำหรับลูกค้านำไปใช้ แต่สำหรับนักพัฒนาเองส่วนใหญ่จะใช้งานรุ่นภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลเพราะถ้าหากมีปัญหาเกี่ยวกับโค้ดหรือข้อบกพร่องต่าง ๆ จะสามารถค้นหาคำ หรือนำภาพหน้าจอไปถามหรือหาคำตอบในอินเตอร์เน็ตได้สะดวกกว่า

คำถามที่ตามมาคือ “เราควรจะต้องแปลเป็นภาษาไทยทั้งหมดทุกคำหรือไม่?”

@mennstudio เสนอให้แปลเป็นภาษาไทยทั้งหมดทุกคำ เพื่อความสละสลวย ไหลลื่นในการอ่าน

@ibdz เสนอว่า การแปลทุกคำอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ยากขึ้นสำหรับคำบางคำที่ไม่สามารถหาคำที่ตรงกับต้นฉบับได้ ซึ่งบางคำอาจจำเป็นต้องใช้ทับศัพท์แทน หรืออาจจะต้องใช้ต้นฉบับที่เป็นคำภาษาอังกฤษไว้

@mennstudio เพิ่มเติมว่า เนื่องจากบางคำ เรายังไม่เคยบัญญัติคำภาษาไทยให้กับมัน ดังนั้นจึงยังไม่มีคลังข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นเกิดขึ้น แต่ถ้ามีการบัญญัติคำนั้นเป็นภาษาไทยขึ้นมาแล้ว เมื่อนำไปใช้งานในวงกว้างมากขึ้น จะเริ่มมีคลังข้อมูลเกี่ยวกับคำนั้นในภาษาไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

@imnok เพิ่มเติมว่า เนื่องจากคำเฉพาะเช่น WordPress, WordCamp หรือ Gutenberg ถ้าหากเราใช้เป็น “เวิร์ดเพรส”, “เวิร์ดแคมป์” หรือ “กูเทนเบิร์ก” จะทำให้เกิดความยากสำหรับการประชาสัมพันธ์ อีกทั้งยังเป็นคำเฉพาะที่มีอัตลักษณ์ ดังนั้นการใช้คำเหล่านี้ในรูปแบบเดียวกัน น่าจะส่งผลดีในการนำไปใช้เผยแพร่มากกว่า

@ibdz เสริมเกี่ยวกับแนวคิดว่า ถ้าหากเรามองอีกมุมว่า การใช้บางคำเป็นภาษาอังกฤษบ้าง (ที่มีรูปแบบเฉพาะ หรือศัพท์เทคนิคที่ยังไม่มีคำเฉพาะเป็นภาษาไทย) อาจจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้งานได้ค้นคว้าและศึกษาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมก็ได้

หลังจากนั้น ทีมแปลไทย ได้มีการเพิ่มเติมและแก้ไขคำต่าง ๆ ใน Glossary เพื่อให้ไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้

  • คำเฉพาะและศัพท์เทคนิคต่าง ๆ ในระดับของนักพัฒนา (Developer) ให้ใช้เป็นภาษาอังกฤษ เช่น WordPress, Gutenberg, Hook, REST API เป็นต้น
  • การทับศัพท์ ให้อ้างอิงจากหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน
  • ตรวจสอบคำศัพท์เฉพาะที่มีการบัญญัติขึ้นมาแล้วจาก Blognone Glossary, Open Source อื่น ๆ หรือพจนานุกรมคำศัพท์คอมพิวเตอร์ก่อน
  • คำใดมีข้อสรุปในการแปลชัดเจนแล้ว จะเพิ่มเอาไว้ใน Locale Glossary (th)
  • หากมีคำถามหรือไม่แน่ใจในการแปลคำใด สามารถพูดคุย สอบถามกันได้ทาง Slack wpth.slack.com #Polyglots

ขอขอบคุณ Contributors ทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ที่เพิ่งเริ่มต้นที่ยังไม่มีประสบการณ์ใด ๆ ไปจนระดับนักพัฒนาที่มีประสบการณ์มายาวนาน หรือแม้กระทั่งผู้ที่สนใจการแปลถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้งาน WordPress ก็ตามที่มาในวันนี้ ที่ทำให้เป้าหมายในการแปล WordPress 5.2 เสร็จสมบูรณ์ 100% ได้ 🙂